svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

อธิบดีคุมประพฤติ ยัน ไม่เคยมีใบส่งตัว “แพรวา” ไปรพ.พระมงกุฎฯ

21 มีนาคม 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อธิบดีคุมประพฤติ ยัน ไม่เคยมีใบส่งตัว แพรวา ไปรพ.พระมงกุฎฯ ส่วนจนท.ที่อ้างว่าไปควบคุมดูแลไปในฐานะส่วนตัว ตั้งกรรมการสอบแล้ว ยัน 3 ปีแพรวาไม่ทำงานบริการสังคมตามคำสั่งศาล ขอไปศิริราชแต่ก็เบี้ยว แต่ให้ทนายนำเอกสารรพ.พระมงกุฎ รับรองทำงาน 90 ชม. ลุ้นศาลไต่สวน 21 มิ.ย.หากรับรองจะเป็นกรณีแรกในประเทศที่อนุญาตทำงานนอกหน่วยงานภาคี

เมื่อวันที่ 21 มี.ค.59 พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวถึงกรณีที่ พ.อ.พีระพล ปกป้อง รองผอ.รพ.พระมงกุฎเกล้า ออกมาระบุว่ากรมคุมประพฤติมีใบส่งตัวน.ส.แพรวา (นามสมมุติ) และมีเจ้าหน้าที่คุมประพฤติมาตรวจสอบการทำงานบริการสังคมที่รพ.พระมงกุฏเกล้า ว่า จากการตรวจสอบยืนยันว่ากรมคุมประพฤติไม่เคยมีหนังสือส่งตัวผู้ถูกคุมประพฤติไปยังรพ.พระมงกุฎเกล้า ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ถูกระบุว่าได้ไปควบคุมดูแลในวันส่งตัวแพรวา ก็ไปในฐานะส่วนตัว กรณีของเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวกรมคุมประพฤติอยู่ระหว่างตั้งกรรมสอบข้อเท็จจริง
อธิบดีกรมคุมประพฤติ ชี้แจงกรณี น.ส.แพรวา (นามสมมุติ) อดีตเยาวชนที่ขับรถยนต์ฮอนด้าซีวิคเฉี่ยวชนรถตู้โดยสารสายธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-หมอชิต บนทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวม 9 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2553 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี แต่รอลงอาญา และแก้โทษให้เพิ่มเวลารอลงอาญาจาก 3 ปี เป็น 4 ปี เพิ่มเวลาบำเพ็ญประโยชน์บริการสังคมเป็นปีละ 48 ชั่วโมง รวม 4 ปี และห้ามขับรถจนอายุครบ 25 ปี ว่า
กรณีดังกล่าวเป็นการขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นบาดเจ็บและเสียชีวิตศาลจึงให้ทำงานบริการสังคม 4 ปี ปีละ 48 ชั่วโมง รวมเป็น 144 ชั่วโมง ซึ่งช่วง 3 ปีแรกหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาผู้ถูกคุมประพฤติไม่เคยทำงานบริการสังคมเลย โดยขอผัดผ่อนอ้างว่าเรื่องการศึกษา ซึ่งเจ้าหน้าที่ผัดผ่อนให้แต่ปีนี้ถือเป็นปีสุดท้ายที่ต้องถูกคุมประพฤติกรมคุมประพฤติจึงต้องเข้มงวด เพราะใกล้ครบกำหนด อย่างไรก็ตาม กรมได้มีการตั้งคณะกรรมการลงโทษทางวินัยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และมีการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดนนทบุรีซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบบุคคลดังกล่าวสลับไปอยู่ที่สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดมหาสารคามและให้ผอ.สำนักงานคุมประพฤติมหาสารคามมารับหน้าที่แทน
ทั้งนี้ ย้ำว่าการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต้องมีมาตรการเดียวกัน เพราะกรณีนี้มีความล่าช้า แต่ฝ่ายผู้ถูกคุมประพฤติไม่พอใจ กล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ใช้วาจาไม่เหมาะสม ข่มขู่และพูดจาลวนลาม ซึ่งตนยังไม่ทราบข้อเท็จจริง แต่ทราบว่าได้มีการส่งหนังสือไปร้องทุกข์กับผู้ตรวจการแผ่นดินว่า เจ้าหน้าที่กระทำผิดตามมาตรา 157 กรณีไม่ลงชื่อรับรอบการทำบริการสังคม

อธิบดีคุมประพฤติ ยัน ไม่เคยมีใบส่งตัว “แพรวา” ไปรพ.พระมงกุฎฯ


"รอง ผอ.รพ.พระมงกุฎ" การันตี "แพรวา" มาช่วยงานจริงhttp://www.nationtv.tv/main/content/crime/378494627/
อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวถึงขั้นตอนการคุมประพฤติว่าโดยปกติหลังศาลมีคำสั่งให้คุมประพฤติ กรมมีหน้าที่ต้องทำตามคำสั่งศาล โดยแจ้งให้ผู้ถูกคุมประพฤติรับทราบว่าจะไปบริการสังคมประเภทใด เพื่อให้กรมคุมประพฤติหารือร่วมกับหน่วยงานที่ผู้ถูกคุมประพฤติจะไปทำงานบริการสังคมและให้สามารถตรวจสอบได้ เพราะหากไม่ดำเนินการตามขั้นตอนเจ้าหน้าที่ก็เข้าข่ายทำผิดมาตรา 157 ดังนั้น ในกรณีดังกล่าวผู้ถูกคุมประพฤติต้องประสานให้กรมคุมประพฤติทราบว่าจะไปทำอะไร ที่ไหน หน่วยงานนั้น ๆ และกรมคุมประพฤติจะได้ประสานและทำรายงาน หากไม่ดำเนินการตามขั้นตอนก็จะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าทำงานบริการสังคมจริงหรือไม่
ทั้งนี้ในห้วง 3 ปี ที่ผ่านมาได้รับรายงานว่าในกรณีดังกล่าวผู้ถูกคุมประพฤติใกล้พ้นอำนาจของกรมคุมประพฤติแล้ว แต่ทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยนำเอกสารไปยื่นต่อศาลระบว่าจำเลยสมัครใจที่จะทำงานบริการสังคมที่รพ.พระมงกุฏเกล้าและมีการไปทำงานบริการสังคมมาแล้ว 90 ชั่วโมง แต่เจ้าหน้าที่คุมประพฤติไม่รับรู้ อย่างไรก็ตาม ปกติกรมคุมประพฤติมีหน่วยงานภาคีอยู่ทั่วประเทศ โดยภาคีเหล่านี้จะมีแบบฟอร์มการทำงานบริการสังคม มีใบส่งตัวจากสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดซึ่งต้องลงชื่อและบันทึกเวลานับชั่วโมงให้ครบถ้วน โดยต้องมีการลงลายมือชื่อรับรองจากทั้งหน่วยงานภาคีและผู้ถูกคุมประพฤติ เพื่อนำเสนอศาลให้พ้นเงื่อนการคุมประพฤติ

อธิบดีคุมประพฤติ ยัน ไม่เคยมีใบส่งตัว “แพรวา” ไปรพ.พระมงกุฎฯ


พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวต่อว่า กรณีดังกล่าวเป็นการไปดำเนินการเองของผู้ถูกคุมประพฤติ ซึ่งข้อเท็จจริงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีการอ้างเรื่องการศึกษาเล่าเรียน ไม่เคยทำงานบริการสังคมเลย แต่เคยมีการบริจาคเลือด 1 ครั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่นับให้เป็น 6 ชั่วโมง และเมื่อกรมคุมประพฤติเริ่มเข้มงวดกลับมีเอกสารส่งมายืนยันว่าทำงานบริการสังคมมาแล้ว 90 ชั่วโมงไปยื่นต่อศาล ซึ่งศาลให้รับไว้ก่อน ส่วนที่เหลืออีก 48 ชั่วโมง ศาลสั่งให้มาดำเนินการกับกรมคุมประพฤติอย่างเคร่งครัด จึงได้มีการส่งหนังสือแจ้งไปยังตัวผู้ถูกคุมประพฤติซึ่งเป็นผู้รับหนังสือเองแล้ว แต่ผู้ถูกคุมประพฤติยืนยันจะทำแบบเดิมต่อไป พร้อมมีการขู่ให้เจ้าหน้าที่ให้การรับรอง หากไม่ลงชื่อรับรองจะดำเนินการเอาผิดตามมาตรา 157 ทำให้กรมคุมประพฤติต้องยื่นเรื่องต่อศาล หลังจากนี้ต้องรอฟังคำวินิจฉัยของศาล ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่มียักท่า หน้างอ รอนาน งานมาก ปากหมา แต่ผู้ถูกคุมประพฤติ ไม่ใช่ประชาชนใส ๆ ทั่วไป แต่เป็นผู้กระทำผิด จะให้นุ่มนิ่ม โอ้โลมปฏิโลมคงไม่ได้ ต้องบังคับกันบ้าง
แต่ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่เคยอยู่สองต่อสองกับผู้ถูกคุมประพฤติ การพูดก็เพื่อตักเตือนไม่ให้เที่ยวเตร่ในเวลากลางคืนโดยการพูดขู่ว่าจะสุ่มตรวจในช่วงตีหนึ่ง ตีสองก็เป็นไปตามคำสั่งศาล แต่กลับถูกร้องว่าเป็นการข่มขู่ลวนลาม
"กรณีแพรวาต้องให้ความเป็นธรรมกับเยาวชน เพราะมีเกรดเฉลี่ยดีและไม่มีประวัติเที่ยวเตร่ มีการมารายงานตัวปกติ แต่ยังขาดการทำงานบริการสังคมซึ่งถือเป็นสาระสำคัญ ตลอด 3 ปี ไม่เคยทำเลย เคยทำหนังสือขอไปทำงานบริการสังคมที่รพ.ศิริราช เจ้าหน้าที่ก็ทำหนังสือส่งตัว แต่ก็ไม่ได้ไป แต่ทำหนังสือไปรายงานศาลว่า 1 เดือนทำงานไปแล้ว 90 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ช่วงกลางเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปได้หากทำทุกวัน เพราะเงื่อนไขกรมคุมประพฤติคือทำได้ไม่เกินวันละ 6 ชั่วโมง หากศาลรับรองการทำงานในครั้งนี้ก็จะถือเป็นกรณีแรกที่ให้การรับรองการทำงานคุมประพฤติกับหน่วยงานนอกภาคี ส่วนรพ.พระมงกุฎเกล้า หากต้องการเข้ามามีส่วนร่วมเป็นภาคี กรมคุมประพฤติก็พร้อมรับ" อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าว

ด้านนายพยนต์ สินธุนาวา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการคุมประพฤติ กล่าวว่า การที่ศาลระบุให้จำเลยทำงานบริการสังคมเพื่อต้องการแก้ไขพฤตินิสัยโดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุซึ่งระบุไว้ในกฎหมายอาญามาตรา 56 ว่า การทำงานบริการสังคมต้องเป็นไปตามที่เจ้าหน้าที่คุมประพฤติและจำเลยมาพูดคุยและปรับแผนการทำงานบริการสังคม แต่กรณีนี้จำเลยไปทำงานโดยติดต่อสถานที่เองและไม่ได้แจ้งกรมคุมประพฤติ ซึ่งตามปกติการทำงานบริการสังคมต้องลงรายละเอียดเป็นรายชั่วโมงและต้องลงลายมือชื่อของทั้งผู้ถูกคุมประพฤติและเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ โดยภาคเครือข่ายได้รับความไว้วางใจจากศาลและกรมคุมประพฤติเพราะทำงานร่วมกันมานานมากกว่า 10 ปี ข้อกำหนดของภาคีเครือข่ายต้องมีเอกสารยืนยันชัดเจน ไม่ใช่รายชื่อเลื่อนลอย การที่ศาลสั่งทำงานคุมประพฤติไม่ใช่ต้องการให้ไปทำงานเพียงเสียเหงื่อ แต่ต้องการให้สำนึกในความผิด ยกตัวอย่างคดี บุกรุกป่าชายเลนศาลสั่งให้ผู้ถูกคุมประพฤติปลูกป่าชายเลน โดยศาลไม่ต้องการพื้นที่ป่าเพิ่ม แต่ต้องการให้ผู้ถูกคุมประพฤติสำนึกผิดจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
"กรณีของแพรวาศาลจึงสั่งให้ทำงานในโรงพยาบาลเพื่อดูแลผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ เพื่อให้รับรู้ถึงความรู้สึกของผู้บาดเจ็บและญาติของผู้เสียชีวิต"นายพยนต์ กล่าว
นายพยนต์ กล่าวอีกว่า ตนเห็นเอกสารบางส่วนที่ทนายความของแพรวานำไปยื่นแสดงต่อศาลว่าทำงานบริการสังคมที่รพ.พระมงกุฎฯ 90 ชั่วโมง โดยมีลายมือชื่อผอ.รพ.พระมงกุฎฯเซ็นรับรอง และมีการตั้งคณะแพทย์ซึ่งเป็นแพทย์ทหารและนายทหารพระธรรมนูญเป็นกรรมการตรวจสอบ โดยที่กรมคุมประพฤติไม่รู้เห็น ดังนั้น 90 ชั่วโมงที่แพรวาทำงานศาลจะนับให้หรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ศาลย้ำคือ 48 ชั่วโมงที่เหลือ ขอให้กรมคุมประพฤติปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด เจ้าหน้าที่จึงแจ้งให้แพรวารับทราบแต่ถูกปฏิเสธโดยยืนยันว่าจะทำงานบริการสังคมในวิธีการเดิม เจ้าหน้าที่จึงไม่เซ็นรับรองให้และทำหนังสือรายงานให้ศาลรับทราบ ซึ่งศาลจะพิจารณาประเด็นดังกล่าวรวมกับอีก 90 ชั่วโมง ในวันที่ 21 มิ.ย. นี้ อย่างไรก็ตาม. จะคดีนี้จะครบกำหนดคุมประพฤติในวันที่ 31 ส.ค.59 โดยในระหว่างนี้ทุกอย่างต้องหยุดชะงักเพื่อรอฟังการไต่สวนของศาล

logoline